สไลน์โชว์

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไบโอเทค

ไบโอเทคคืออะไร?

ไม่กี่ปี มานี้ ใครๆ ก็พูดถึงไบโอเทค 
  • นักวิทยาศาสตร์ ปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้ทนน้ำท่วมได้โดยอาศัยไบโอเทค
  • คุณ หมอพรทิพย์พิสูจน์ผู้สูญหายจากเหตุการณ์สึนามิ ด้วยเทคนิคหนึ่งของไบโอเทค
  • คริสโตเฟอร์ รีฟ ดาราดังชาวสหรัฐจากเรื่องซุปเปอร์แมนอันโด่งดังในอดีต พยายามให้แพทย์รักษาอาการอัมพาตโดยใช้ไบโอเทค จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
  • นัก วิทยาศาสตร์พัฒนาวัคซีนเอดส์  วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้มีประสิทธิภาพด้วยไบโอเทค
ไบโอเทค เป็นชื่อเรียกแบบย่อๆ ของ ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) หรือเทคโนโลยีชีวภาพ คือ การใช้เทคนิค หรือกระบวนการต่างๆ ในการนำสิ่งมีชีวิต ชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต หรือผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้าน ต่างๆ ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรมอาหาร และด้านการแพทย์   โดยเทคโนโลยีชีวภาพเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์หลายสาขา อาทิ ชีววิทยา จุลชีววิทยา พันธุศาสตร์ ชีวเคมี รวมถึงศาสตร์สาขาอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทยศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
         
บ้านเรามีเทคโนโลยีดังกล่าวมานานมากแล้ว...การหมักปลาร้า การหมักสุราท้องถิ่น ทั้งสาโทและกระแช่ การหมักน้ำปลา การผลิตซีอิ๊ว  ล้วนเป็นเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิม (Classical Biotechnology)  เช่นเดียวกับการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์โดยการปรับปรุงพันธุ์รุ่นแล้วรุ่น เล่า โดยใช้ระยะเวลาหลายปีเพื่อให้ได้ลักษณะที่ดี มีผลผลิตมากขึ้น  คุณภาพดีขึ้น แม้แต่การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคต่างๆ หรือนำมาบำรุงสุขภาพ ก็จัดเป็นเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิม
         
เทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิมได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เมื่อมีผู้พูดถึงเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบัน  จึงมักหมายถึง เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Modern Biotechnology  เช่น การบำบัดโรคด้วยยีน การพิสูจน์บุคคลด้วยลายพิมพ์ดีเอ็นเอ การโคลน การดัดแปลงยีน ฯลฯ ที่มีวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เป็นรากฐาน  จนอาจเรียกได้ว่า เทคโนโลยีชีวภาพเป็นสหวิทยาการที่นำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตไป ใช้ให้เกิดประโยชน์
          นำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ทำอะไรได้บ้าง?


เรานำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน
  • เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการเกษตร
          การพัฒนาพันธุ์พืชให้ต้านทานศัตรูพืช โรคพืช การเพิ่มความทนทานของพืชต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความแห้งแล้ง และอุทกภัย การพัฒนาผลไม้ให้สุกงอมช้ากว่าปกติเพื่อลดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง การเพิ่มผลผลิตพืชโดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก  การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้ได้คุณภาพ จำนวนมากในเวลารวดเร็ว การผลิตท่อนพันธุ์พืชที่ปราศจากโรคที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ โรค  การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้  การปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกเพื่อให้มีอายุการใช้งานในแจกันมากขึ้นและมีกลิ่น หอม การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ดี  การปรับปรุงพันธุ์โคนมให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น และทนโรคในประเทศเขตร้อนชื้น การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค  การนำจุลินทรีย์มาเปลี่ยนวัตถุดิบด้านการเกษตรซึ่งมีราคาถูกเป็นพลังงานทด แทน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจ  การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ด้วยโปรไบโอติก เป็นต้น
  •   เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ
          การผลิตวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค และมีการใช้กว่า 10 ล้านโดสต่อปีทั่วโลกในปัจจุบัน  การผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน การผลิตฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต เพื่อแก้ปัญหาภาวะเตี้ยแคระผิดปกติ การผลิตแฟกเตอร์ 8 รักษาผู้ป่วยโรคโลหิตไหลไม่หยุด การผลิตยาปฏิชีวนะเช่น เพนิซิลลิน  การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อที่สำคัญ เช่น ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเอดส์ ชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเมลิออยโดสิส ชุดตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย และชุดตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด  การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอศึกษาเชื้อก่อโรคที่สำคัญต่อมนุษย์ทำให้ได้กลไกการ รักษาที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาพันธุ์พืชบางชนิดโดยการลดหรือกำจัดสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ลง เช่น สารที่อยู่ในน้ำนม ในถั่ว และธัญพืชบางชนิด  การนำจุลินทรีย์มาผลิตวิตามิน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอติดตามการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งเม็ด เลือด  การพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดทางชีวภาพที่เรียกว่าไบโอเซ็นเซอร์ เพื่อวัดปริมาณน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
  • เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร
          การแปรรูปอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ เช่น การหมัก การดองพืชผักผลไม้ การผลิตนมเปรี้ยว การผลิตแหนม ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว การใช้จุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เช่น การผลิตเบียร์  ไวน์  ไวน์ผลไม้  เหล้า สาโท อุ กระแช่  การนำจุลินทรีย์มาผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร  การผลิตกรดอินทรีย์ต่างๆ ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาพืชอาหารสายพันธุ์ใหม่ให้มีวิตามิน แร่ธาตุ และคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่าพืชอาหารปกติ หรือมีส่วนประกอบของสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มขึ้น การผลิตผงชูรสจากมันสำปะหลังหรือกากน้ำตาล การปรับปรุงคุณภาพพืชน้ำมันให้มีคุณลักษณะและคุณประโยชน์มากขึ้น เช่น มีไขมันไม่อิ่มตัวปริมาณสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพและตอบสนองความต้องการของตลาด  เป็นต้น
  • เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อสิ่งแวดล้อม
          การนำจุลินทรีย์มาเพาะเลี้ยงเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการย่อยสลาย ขยะ และควบคุมคุณภาพของน้ำเสีย การผลิตปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี  การย่อยสลายของเสียในดินให้มีขนาดเล็กลงและพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ การลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการพัฒนาพันธุ์พืชที่ต้าน ทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช  การใช้แบคทีเรียบีทีและไวรัสเอ็นพีวีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช การใช้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงทดแทนสารเคมี การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอันตรายเช่น สารกัมมันตรังสี  การผลิตก๊าชชีวภาพจากขยะ และมูลสัตว์ การสกัดสารออกฤทธิ์จากสะเดาเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืช  การฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มโดยการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ปลูกได้ในพื้นที่ที่มี ความเค็มสูง การใช้จุลินทรีย์ในการสกัดแร่ธาตุสำคัญทางเศรษฐกิจทดแทนวิธีสกัดทางเคมี เป็นต้น



ที่มา :http://www.vcharkarn.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น